ความดันสูงเกิดจาก!? นอนน้อยเกี่ยวมั้ย?

ความดันสูงเกิดจาก

          ความดันสูงถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง และเป็นภัยเงียบของคนไทย เพราะนอกจากไม่ค่อยแสดงอาการใดๆแล้ว โรคความดันโลหิตสูงยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมักเป็นสาเหตุที่เราอาจนึกไม่ถึง และไม่ทันระวัง

สารบัญ


ความดันสูง คือเท่าไหร่ แค่ไหนเรียกความดันสูง

         โรคความดันสูง (ภาษาอังกฤษ Hypertension) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ โดยพบได้จากทั้งความดันตัวบน และความดันตัวล่าง

  • ความดันปกติ ควรมีค่าไม่เกิน 120/80 มม.ปรอท หรือความดันตัวบนไม่เกิน 120 และตัวล่างไม่เกิน 80
  • ความดันสูงกว่าปกติ มีค่าตั้งแต่ 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 130 และตัวล่างมากกว่า 85 กลุ่มนี้ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ควรเฝ้าระวัง และเริ่มปรับพฤติกรรม
  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ระยะเริ่มแรก มีค่าตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 140 และตัวล่างมากกว่า 90
  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 ระยะปานกลาง มีค่าตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 160 และตัวล่างมากกว่า 100
  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 3 ระยะรุนแรง มีค่าตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 180 และตัวล่างมากกว่า 110

ความดันสูง คือเท่าไหร่

ความดันสูงเกิดจากสาเหตุอะไร

          ภาวะความดันโลหิตสูง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละท่านอาจมีที่มาของโรคความดันโลหิตสูงไม่เหมือนกัน และบางท่านอาจมีมากกว่า 1 สาเหตุ โดยหลักแล้วโรคความดันสูงจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามสาเหตุของโรค ดังนี้

  1. ความดันสูงแบบปฐมภูมิ (Primary hypertension หรือ Essential hypertension) คือ โรคความดันโลหิตสูงแบบที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบได้มากถึง 90%
  2. ความดันสูงแบบทุติยภูมิ (Secondary hypertension) คือ โรคความดันสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาทางกายอื่นๆ เช่น
  • โรคอ้วน (Obesity) ภาวะอ้วนลงพุง หรือผู้ที่มีระบบเผาผลาญบกพร่อง (Metabolic syndrome)
  • ภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นขณะหลับ (OSA, Obstructive Sleep Apnea)
  • โรคไตวายเรื้อรัง หรือปัญหาเกี่ยวกับไตอื่นๆ
  • โรคหลอดเลือดบางชนิด
  • โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือความผิดปกติของฮอร์โมนต่อมหมวกไต รวมถึงเนื้องอกของต่อมไร้ท่อบางชนิด
  • จากผลข้างเคียงของการรับประทานยาโรคประจำตัวบางชนิด 

          นอกจากปัจจัยเรื่องโรคภัยต่างๆแล้ว การรับประทานอาหาร และพฤติกรรมบางอย่าง ก็ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงได้ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนดึกกว่าเวลาปกติ การสูบบุหรี่ การทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ไม่ว่าจะมีรสเค็มหรือไม่ก็ตาม

นอนน้อยเกี่ยวมั้ย ทำให้ความดันสูงจริงไหม

          หลายท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า หากท่านนอนน้อย นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ความดันขึ้นสูงได้

          มีงานวิจัยก่อนๆ ที่บอกเอาไว้ว่า ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จำนวนชั่วโมงที่ท่านหลับน้อยลงกว่าปกติเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็สามารถทำให้ท่านความดันสูงขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด

          การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งในการควบคุมความดัน ที่ผู้เป็นโรคความดันสูงจะต้องใส่ใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด

นอนเยอะ แต่นอนไม่ตรงเวลา ความดันขึ้นไหม

         ไม่ว่าใครเมื่อถึงคราววันหยุด ก็คงอยากจะหากิจกรรมทำจนเผลอนอนดึกไปบ้าง แต่ทราบหรือไม่ ว่าต่อให้นอนจำนวนชั่วโมงเท่าเดิม นอนดึกแต่ตื่นสาย ก็ไม่สามารถทดแทนได้

          เพราะจากงานวิจัยล่าสุดพบว่า การเข้านอนช้ากว่าปกติเพียง 30 นาที ก็เพิ่มความเสี่ยงความดันสูงมากกว่าคนปกติ 32% และที่น่าตกใจคือ หากท่านเข้านอนช้ากว่าเวลาปกติของท่าน 90 นาที ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันสูงมากกว่าผู้ที่นอนตรงเวลา มากถึง 92%

         ดังนั้น หากท่านกำลังมีปัญหาความดันโลหิตสูงอยู่ นอกจากจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ท่านควรจะเข้านอนตรงเวลา ทั้งในวันทำงาน และในวันหยุดด้วยเช่นกัน

ความดันสูง แก้ยังไง

         หากท่านพบว่าเริ่มมีภาวะความดันสูง ท่านสามารถเริ่มต้นการรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยตนเองได้ ตั้งแต่การปรับพฤติกรรม และการรับประทานอาหาร โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ลดการรับประทานโซเดียมในชีวิตประจำวัน ลดการปรุงเค็ม รวมถึงลดอาหารที่มีโซเดียมสูงอื่นๆ
  • เน้นการรับประทานถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชไม่ขัดสี เป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ช่วยลดความดันได้ดี เช่น แมกนีเซียม เป็นต้น
  • เพิ่มการรับประทานผัก และผลไม้ จากผลไม้เต็มผล อุดมไปด้วยกากใยไฟเบอร์ และแร่ธาตุสำคัญอย่าง แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่ช่วยลดความดันได้ดีมาก
  • เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมจากธรรมชาติ เช่น นมไขมันต่ำ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว เต้าหู้ ถั่วและธัญพืชชนิดต่างๆ
  • เลือกทานโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ หลีกเลี่ยงการทานเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป
  • เลือกรับประทานไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันรำข้าว หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัว และงดไขมันทรานซ์ 
  • ลดการทานน้ำตาล ของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม

DASH อาหาร

สรุป

          ความดันสูงเป็นโรคที่เกิดจากหลายสาเหตุ รวมไปถึงการนอนดึก นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน ส่วนสำคัญของการรักษาโรคความดันโลหิตสูง คือ การแก้ที่ต้นเหตุทุกอย่าง ที่ทำให้ท่านมีปัญหาความดันโลหิตสูง ตั้งแต่การปรับการกิน ปรับอาหาร ปรับพฤติกรรม ลดน้ำหนัก ไม่ใช่แค่รับประทานยาเพียงอย่างเดียว 

         หากท่านพบว่าท่านมีความดันโลหิตสูง จึงควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรม ดูแลตัวเอง และลดความดันโดยเร็ว เพื่อไม่ให้อาการรุนแรง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายในอนาคต

หมอเมย์ ลดยา