เช็คด่วน! ความดันสูง เท่าไหร่อันตราย!

ความดันสูง เท่าไหร่อันตราย

         โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในภัยเงียบของคนไทย ที่คนไทยหลายคนมองข้าม เพราะผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งจะไม่มีอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันสูง ผู้ป่วยบางคนก็เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้นก่อนแล้ว การป้องกัน และการดูแลตนเองหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันสูง จึงมีความสำคัญมาก

สารบัญ

สอนอ่านค่าความดัน 3 ตัว บนเครื่องวัดความดัน

         ความดันโลหิต คือ ค่าของความดันภายในหลอดเลือดแดง เกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เปรียบเสมือนเป็นเครื่องปั๊มน้ำ ที่คอยส่งเลือดพร้อมทั้งออกซิเจน และสารอาหารต่างๆไปเลี้ยงทุกอวัยวะของร่างกาย มีตัวเลข 2 ค่า ได้แก่

  • ความดันโลหิตซีสโตลิก (Systolic blood pressure) หรือ ค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันในขณะที่หัวใจบีบตัว เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆของร่างกาย
  • ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) หรือ ค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว

         ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่เรามักพบบนหน้าจอเครื่องวัดความดันคือ ค่าชีพจร (Pulse) เป็นค่าแสดงอัตราการเต้นของหัวใจในขณะทำการวัดความดัน

ความดันสูง คือเท่าไหร่? สอนเช็คระยะโรคความดัน

          โรคความดันสูง (Hypertension) คือภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ โดยพบได้จากทั้งความดันตัวบน และความดันตัวล่าง

  • ความดันปกติ ควรมีค่าไม่เกิน 120/80 มม.ปรอท หรือความดันตัวบนไม่เกิน 120 และตัวล่างไม่เกิน 80
  • ความดันสูงกว่าปกติ มีค่าตั้งแต่ 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 130 และตัวล่างมากกว่า 85 กลุ่มนี้ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ควรเฝ้าระวัง และเริ่มปรับพฤติกรรม
  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ระยะเริ่มแรก มีค่าตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 140 และตัวล่างมากกว่า 90
  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 ระยะปานกลาง มีค่าตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 160 และตัวล่างมากกว่า 100
  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 3 ระยะรุนแรง มีค่าตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 180 และตัวล่างมากกว่า 110

ทำยังไงดี เมื่อตรวจพบความดันสูง

         หากท่านพบว่า ท่านเริ่มมีภาวะความดันสูง ท่านสามารถเริ่มต้นดูแลตนเอง เพื่อควบคุมความดันโลหิตของท่านได้ โดยใช้เทคนิดลดความดัน ดังต่อไปนี้

  • ลดการรับประทานโซเดียมในชีวิตประจำวัน ลดการปรุงเค็ม รวมถึงลดอาหารที่มีโซเดียมสูงอื่นๆ
  • เน้นการรับประทานถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชไม่ขัดสี เป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ช่วยลดความดันได้ดี เช่น แมกนีเซียม เป็นต้น
  • เพิ่มการรับประทานผัก และผลไม้ จากผลไม้เต็มผล อุดมไปด้วยกากใยไฟเบอร์ และแร่ธาตุสำคัญอย่าง แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่ช่วยลดความดันได้ดีมาก
  • เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมจากธรรมชาติ เช่น นมไขมันต่ำ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว เต้าหู้ ถั่วและธัญพืชชนิดต่างๆ
  • เลือกทานโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ หลีกเลี่ยงการทานเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป
  • เลือกรับประทานไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันรำข้าว หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัว และงดไขมันทรานซ์ 
  • ลดการทานน้ำตาล ของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม
  • เพิ่มการออกกำลังกาย และลดน้ำหนักอย่างจริงจัง
  • งดสูบบุหรี่
  • จัดการความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และเข้านอนให้ตรงเวลา

ความดันสูงเท่าไหร่ ต้องกินยา

  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม ความดันสูงกว่าปกติ คือ สูงตั้งแต่ 130/85 มม.ปรอท ควรพบแพทย์ เพื่อปรึกษาวิธีการควบคุมอาหาร และปรับพฤติกรรม โดยยังไม่ต้องรับประทานยา
  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม ความดันโลหิตสูง ระยะเริ่มแรกขั้นไป หรือ มีความดันสูงตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม รวมถึงเริ่มรับประทานยาลดความดัน ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

จำให้ขึ้นใจ! วิธีปฐมพยาบาล ความดันสูงเฉียบพลัน

          หากท่านวัดความดันแล้วพบว่าความดันสูงกว่าปกติ ให้ท่านปฐมพยาบาลด้วยการให้นอนพักสักระยะหนึ่ง ประมาณ 10-15 นาที งดการเดิน วิ่ง หรือออกแรงทำงานหนักๆ เพราะโดยปกติแล้ว ความดันของคนเราจะต่ำลงเมื่อหลับหรือนอนพัก

          จากนั้นให้ท่านสำรวจตนเองว่า ท่านได้รับประทานยาลดความดันโลหิตของท่านหรือยัง ถ้าลืมรับประทาน ให้รับประทานในทันทีที่นึกขึ้นได้ ไม่ต้องรอตามรอบมื้ออาหาร

         แต่หากท่านพบว่า มีอาการฉุกเฉินจากโรคความดันสูง เช่น

  • เจ็บแน่นกลางอก ร้าวไปกรามซ้าย หรือไหล่ซ้าย เหนื่อยงานผิดปกติ เป็นมากตอนออกแรง 
  • ปวดหัวรุนแรง ร่วมกับอาเจียนพุ่ง หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง
  • เหนื่อยหอบ ขาบวมกดบุ๋ม ปัสสาวะไม่ค่อยออก
  • การมองเห็นแย่ลงกะทันหัน

        หรือพบว่า ความดันยังสูงกว่า 180/110 มม.ปรอท แม้จะนอนพักแล้ว ให้ท่านรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมโดยด่วน

สรุป

         แม้ความดันสูง จะเป็นโรคที่ส่วนมาก ไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากท่านพบว่า ท่านอยู่ในกลุ่มความดันเริ่มสูง คือ มีค่าความดันตั้งแต่ 130/85 มม.ปรอท ขึ้นไป ท่านควรเริ่มดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด โดยใช้หลักการปรับพฤติกรรม และการคุมอาหารเพื่อลดความดันโดยไม่ใช้ยา เพราะหากปล่อยไว้ จนระยะโรคความดันสูงเป็นหนักขึ้น อาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของท่านได้