โรคความดันสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ โดยพบได้จากทั้งความดันตัวบน และความดันตัวล่างที่สูงผิดปกติ หลายท่านปล่อยปละละเลย ไม่เห็นถึงความสำคัญ และอันตรายของปัญหานี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ส่วนมากมักไม่มีอาการ
สารบัญ
- ความดันสูง จำเป็นต้องปวดหัวไหม
- ถ้าความดันสูง และปวดหัวแบบนี้ อันตรายสุดๆ
- วิธีแก้ ความดันสูงโดยไม่พึ่งยา
- ความดันสูงต้องกินอะไร สูตรอาหารลดความดันที่ดีที่สุด
- เป็นความดันสูง กินกาแฟ “ดํา” ได้ไหม
- สรุป
ความดันสูง จำเป็นต้องปวดหัวไหม
หลายท่านจะมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ปวดหัว ไม่ปวดศีรษะ แปลว่า ไม่มีทางเป็นความดันโลหิตสูง แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เพราะผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าครึ่งไม่มีอาการใดๆ จะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่อาจพบอาการปวดหัว เวียนหัวได้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว
อาการของโรคความดันโลหิตสูงที่หลายคนมองว่า ถ้าไม่มี แปลว่าไม่เป็นความดันนั้น มักมาจากภาวะแทรกซ้อนของการมีปัญหาความดันโลหิตสูงมานานๆ จนเกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น
- ภาวะหัวใจโต เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
- ภาวะไตเสื่อม ไตวายจากความดันโลหิตสูง
- การมองเห็นแย่ลง จากปัญหาเส้นเลือดในตาเสื่อมจากความดัน
- เส้นเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต
ถ้าความดันสูง และปวดหัวแบบนี้ อันตรายสุดๆ
แม้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดหัว แต่ถ้าท่านมีปัญหาความดันโลหิตสูง ร่วมกับมีอาการปวดหัวตามลักษณะนี้ ท่านควรรีบปรึกษาแพทย์
- อาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดจนตื่นกลางดึก ร่วมกับมีอาเจียนพุ่งรุนแรง แขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว ชาครึ่งซีก หรือหมดสติไม่รู้สึกตัว อาจเป็นสัญญาณเตือนของเส้นเลือดในสมองแตก จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที
- อาการปวดศีรษะเป็นพักๆ โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าผาก และท้ายทอย ร่วมกับมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น หน้าซีด และมีปัญหาความดันโลหิตสูงขณะปวดศีรษะเป็นพักๆ สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ เนื้องอกต่อมหมวกไต ชนิด Pheochromocytoma
หากท่านมีอาการปวดศีรษะตามลักษณะข้างต้น ท่านควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
วิธีแก้ ความดันสูงโดยไม่พึ่งยา
เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆในระยะยาว ท่านสามารถเริ่มดูแลตนเองได้ ตั้งแต่ท่านเริ่มมีภาวะความดันสูงกว่าปกติ คือมีค่าตั้งแต่ 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป ยังไม่ต้องรอวินิจฉัยว่าเป็นโรค โดยมีวิธีแก้ความดันสูงเบื้องต้นดังนี้
- ท่านต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ตามหลักสูตรอาหารลดความดัน DASH Diet
- หากท่านมีภาวะน้ำหนักเกิน ท่านต้องเริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง ควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ท่านควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำออกกำลังกายความหนักปานกลาง อย่างน้อยวันละ 30-40 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์
- ข้อควรระวัง ไม่ควรออกกำลังกาย หากพบว่า ขณะนั้นท่านมีความดันโลหิตขณะพักมากกว่า 180/110 มม.ปรอท ขึ้นไป และแนะนำให้ท่านรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
- ท่านควรงดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามจัดการกับความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
ความดันสูงต้องกินอะไร สูตรอาหารลดความดันที่ดีที่สุด
สูตรการรับประทานอาหาร ที่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด คือ DASH diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension diet) หรือแนวทางการบริโภคอาหาร เพื่อหยุดความดันโลหิตสูง เป็นหลักการในระดับสากล ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนไทยได้เป็นอย่างดี โดยมีหลักการดังนี้
- เพิ่มการทานธัญพืชไม่ขัดสี (Whole grain) เช่น ข้าวกล้อง จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย
- เพิ่มการรับประทานถั่ว และเมล็ดพืช คุณจะได้ทั้งโปรตีน ไขมันดี และที่สำคัญคุณจะได้รับแร่ธาตุที่ชื่อว่า แมกนีเซียม แร่ธาตุตัวนี้ช่วยลดความดันได้ดีมาก
- ข้อควรระวัง คือ ให้เลือกกลุ่มที่ใช้การอบ ไม่ใช้วิธีทอด และไม่ปรุงรส หรือใส่เกลือนะคะ
- เพิ่มการทานผัก และผลไม้ แบบเต็มผลในทุกมื้อ อุดมไปด้วยไฟเบอร์ สารต้านอักเสบ วิตามินและแร่ธาตุสำคัญอย่าง แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่ช่วยลดความดันได้เป็นอย่างดี
- เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เน้นจากแหล่งธรรมชาติ เช่น นมรสจืดไขมันต่ำ โยเกิร์ตรสจืดไขมันต่ำ เต้าหู้ หรือผักใบเขียว
- เลือกทานโปรตีนไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ เลี่ยงการทานเนื้อแดง และโปรตีนแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม แหนม เบคอน เป็นต้น
- เลือกรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น เลือกใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันรำข้าวแทน และลดการรับประทานไขมันอิ่มตัว โดยส่วนมากจะมากจากไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนย ชีส
- งดไขมันทรานซ์ (Trans fat) พบมากใน ของทอดน้ำมันท่วม เนยขาว เนยเทียม มาการีน และเบเกอรี่
- ลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวัน ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรรับประทานโซเดียม ไม่เกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม
- ลดการทานน้ำตาล ของหวาน รวมไปถึงน้ำหวาน น้ำอัดลม
- งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
เป็นความดันสูง กินกาแฟ “ดํา” ได้ไหม
แน่นอนว่าในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรลดการทานน้ำตาล จึงควรงดการรับประทานกาแฟชนิด 3อิน1 ในทุกกรณี แต่ถ้าเป็นกาแฟดำแบบไม่ใส่น้ำตาล ผู้ที่เป็นโรคความดันสูงสามารถดื่มได้หรือไม่?
ในกาแฟจะมีสารที่ชื่อว่า คาเฟอีน (Caffeine) สารตัวนี้สามารถทำให้ความดันสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่เคยดื่มมาก่อน หรือไม่ได้ดื่มเป็นประจำ แต่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อความดันในระยะยาว และ ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หมอจึงมีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้
- สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก และยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ
- สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมความดันโลหิตได้ดี สามารถดื่มกาแฟได้ 1-2 แก้ว/วัน โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟก่อนวัดความดันโลหิต อย่างน้อย 30 นาที
- สำหรับคนทั่วไป สามารถดื่มกาแฟได้ตามปกติ ไม่เกิน 3-4 แก้ว/วัน โดยกาแฟไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
สรุป
ความดันโลหิตสูง ไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดหัวเสมอไป ดังนั้น ท่านควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากท่านพบว่าเริ่มมีภาวะความดันสูง ท่านควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเริ่มการปรับพฤติกรรม และปรับการรับประทานอาหาร ตามหลักของ DASH diet อย่างเคร่งครัด และหากท่านมีอาการปวดศีรษะ ท่านควรสังเกตุลักษณะของอาการปวดศีรษะที่อาจเกิดอันตรายต่อตัวท่านได้ หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน