โรคความดันสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ โดยพบได้จากทั้งความดันตัวบน และความดันตัวล่าง เป็นโรคที่ส่วนมากไม่มีอาการ ทำให้คนไทยหลายคน เจอภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว
สารบัญ
- ความดันสูงเกิดจากสาเหตุอะไร
- นอนน้อย ทำให้ความดันสูงจริงไหม?
- คนท้อง ความดันสูงเกิดจากอะไร?
- ความดันสูง แก้ยังไง? วิธีแก้ความดันสูง ไม่ใช้ยา
- อยากความดันดี ต้องรู้จักแร่ธาตุ 2 ตัวนี้
- สรุป
ความดันสูงเกิดจากสาเหตุอะไร
โรคความดันโลหิตสูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ส่วนมากจะแบ่งโรคความดันสูงออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆตามสาเหตุ
- ความดันสูงแบบปฐมภูมิ (Primary hypertension หรือ Essential hypertension) คือ โรคความดันโลหิตสูงแบบที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบได้มากถึง 90%
- ความดันสูงแบบทุติยภูมิ (Secondary hypertension) คือ โรคความดันสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาทางกายอื่นๆ เช่น
- โรคอ้วน (Obesity) ภาวะอ้วนลงพุง หรือผู้ที่มีระบบเผาผลาญบกพร่อง (Metabolic syndrome)
- ภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นขณะหลับ (OSA, Obstructive Sleep Apnea)
- โรคไตวายเรื้อรัง หรือปัญหาเกี่ยวกับไตอื่นๆ
- โรคหลอดเลือดบางชนิด
- โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือความผิดปกติของฮอร์โมนต่อมหมวกไต รวมถึงเนื้องอกของต่อมไร้ท่อบางชนิด
- จากผลข้างเคียงของการรับประทานยาโรคประจำตัวบางชนิด
นอกจากปัจจัยเรื่องโรคภัยต่างๆแล้ว การรับประทานอาหาร และพฤติกรรมบางอย่าง ก็ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงได้ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนดึกกว่าเวลาปกติ การสูบบุหรี่ และการทานอาหารที่มีโซเดียมสูง
นอนน้อย ทำให้ความดันสูงจริงไหม?
มีงานวิจัยบอกเอาไว้ว่า ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จำนวนชั่วโมงที่ท่านหลับน้อยลงกว่าปกติต่อเนื่องเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็สามารถทำให้ท่านความดันสูงขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนั้น จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า การเข้านอนช้ากว่าปกติเพียง 30 นาที ก็เพิ่มความเสี่ยงความดันสูงมากกว่าคนปกติ 32% และที่น่าตกใจคือ หากท่านเข้านอนช้ากว่าเวลาปกติของท่าน 90 นาที ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันสูงมากกว่าผู้ที่นอนตรงเวลา มากถึง 92%
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และเข้านอนให้ตรงเวลา จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งในการควบคุมความดัน ที่ผู้เป็นโรคความดันสูงจะต้องใส่ใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด
คนท้อง ความดันสูงเกิดจากอะไร?
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ นับเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในสตรีตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป สาเหตุของปัญหานี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากการเจริญของรกที่ผิดปกติ และการหดรัดตัวของหลอดเลือดแดง บางรายอาจรุนแรงจะกลายเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะความดันโลหิตสูงในคนท้อง บางรายอาจมีอาการน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้าบวม เท้าบวมนำมาก่อนได้ และหากอาการรุนแรงขึ้น อาจพบอาการปวดศีรษะ ตามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ปวดเกร็งท้อง ลูกดิ้นน้อยลง และอาจพบอาการชักได้
ความดันสูง แก้ยังไง? วิธีแก้ความดันสูง ไม่ใช้ยา
- ลดการรับประทานโซเดียมในชีวิตประจำวัน ลดการปรุงเค็ม รวมถึงลดอาหารที่มีโซเดียมสูงอื่นๆ
- เน้นการรับประทานถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชไม่ขัดสี เป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ช่วยลดความดันได้ดี เช่น แมกนีเซียม เป็นต้น
- เพิ่มการรับประทานผัก และผลไม้ จากผลไม้เต็มผล อุดมไปด้วยกากใยไฟเบอร์ และแร่ธาตุสำคัญอย่าง แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่ช่วยลดความดันได้ดีมาก
- เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมจากธรรมชาติ เช่น นมไขมันต่ำ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว เต้าหู้ ถั่วและธัญพืชชนิดต่างๆ
- เลือกทานโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ หลีกเลี่ยงการทานเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป
- เลือกรับประทานไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันรำข้าว หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัว และงดไขมันทรานซ์
- ลดการทานน้ำตาล ของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม
- เพิ่มการออกกำลังกาย และลดน้ำหนักอย่างจริงจัง
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์
- จัดการความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และเข้านอนให้ตรงเวลา
หากท่านปฏิบัติตามนี้ ระดับความดันของท่านจะค่อยๆดีขึ้น หรือในบางท่านที่รับประทานยาลดความดันอยู่ จะควบคุมความดันได้ดีขึ้น และสามารถลดยา หรือหยุดยาได้ในอนาคต
อยากความดันดี ต้องรู้จักแร่ธาตุ 2 ตัวนี้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาหารการกินในชีวิตประจำวันของเรานั้น ส่งผลต่อความดันโลหิตของคุณอย่างมหาศาล โดยเฉพาะแร่ธาตุเร่งความดันสูงอย่าง โซเดียม (Sodium) และแร่ธาตุที่ช่วยลดความดันอย่าง โพแทสเซียม (Potassium) ทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นแร่ธาตุที่ท่านสามารถพบได้จากอาหารที่ท่านรับประทาน
- โซเดียม (Sodium) หรือที่หลายท่านจะรู้จักในคำว่า เกลือ
เป็นแร่ธาตุที่หากรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก สามารถทำให้ความดันสูงได้ แท้จริงแล้วโซเดียม ไม่ได้มาจากในเกลือ หรืออาหารรสเค็มเพียงอย่างเดียว โซเดียมยังสามารถแฝงมากับอาหารอีกหลายชนิดเช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง วุ้น เยลลี่ เบเกอรี่ ผงชูรส น้ำแกง น้ำซุป
ข้อควรระวัง ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรรับประทานโซเดียม ไม่เกิน 1,500 มก./วัน
- โพแทสเซียม (Potassium)
แร่ธาตุตัวนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ผนังหลอดเลือดของท่านคลายตัวได้ดี และยังช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมส่วนเกิดออกไปได้ดีขึ้น ส่งผลให้ท่านควบคุมความดันได้ดีขึ้นด้วยนั่นเอง
โดยแร่ธาตุตัวนี้ ท่านไม่จำเป็นต้องไปหาเป็นอาหารเสริมมารับประทานเลย ท่านสามารถหาได้จากแหล่งธรรมชาติ เช่น กล้วย อะโวคาโด้ ผักโขม บล็อกโคลี กะหล่ำดาว กีวี่ รวมถึงผักใบเขียวชนิดต่างๆ
ข้อควรระวัง ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมระยะท้ายๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
สรุป
ความดันสูงเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้ง จากอาหารการกิน การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย นอนดึก จากความอ้วน จากโรคอื่นๆ หรือแม้กระทั่งความดันสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่อาจรุนแรงจนคร่าชีวิตได้ทั้งตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์ การดูแลตนเอง ดูแลอาหารการกิน และการปรับพฤติกรรม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและควรทำเป็นอย่างยิ่ง