ความดันสูงเฉียบพลัน เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยความดันสูงหลายคนกังวลมาก เพราะโรคความดันสูง เดิมเป็นโรคที่ไม่มีอาการ ทำให้กว่าจะรู้ตัว บางท่านก็เจอกับปัญหาความดันสูงเฉียบพลัน ที่ก่อปัญหากับอวัยวะต่างๆในร่างกายเรามหาศาล
สารบัญ
- ความดันขึ้นสูง กะทันหัน อาการเป็นอย่างไร
- วิธีปฐมพยาบาล เมื่อความดันสูงเฉียบพลัน
- ปวดหัว จากความดันสูง ควรกินยาอะไร
- วิธีรักษาความดันสูง ควรทำยังไง
- นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ ถ้าคุณเคยมีความดันสูงเฉียบพลัน
- สรุป
ความดันขึ้นสูง กะทันหัน อาการเป็นอย่างไร
ปกติแล้ว ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่มีอาการใดๆ อาการที่เห็นได้ชัดเจน มักเกิดจากการมีปัญหาความดันโลหิตสูงเรื้อรังมากนานๆ หรือมีภาวะความดันสูงกะทันหัน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง โดยท่านอาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- เจ็บแน่นกลางอก ร้าวไปกรามซ้าย หรือไหล่ซ้าย เหนื่อยงานผิดปกติ เป็นมากตอนออกแรง
- ปวดหัวรุนแรง ร่วมกับอาเจียนพุ่ง หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง
- เหนื่อยหอบ ขาบวมกดบุ๋ม ปัสสาวะไม่ค่อยออก
- การมองเห็นแย่ลงกะทันหัน
อาการเหล่านี้เป็นอาการฉุกเฉินทางความดัน หากท่านมีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านควรรีบพบแพทย์ทันที
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อความดันสูงเฉียบพลัน
หากท่านวัดความดันแล้วพบว่าความดันสูง ให้ท่านปฐมพยาบาลด้วยการให้นอนพักสักระยะหนึ่ง ประมาณ 10-15 นาที งดการเดิน วิ่ง หรือออกแรงทำงานหนักๆ เพราะโดยปกติแล้ว ความดันของคนเราจะต่ำลงเมื่อหลับหรือนอนพัก
จากนั้นให้ท่านสำรวจตนเองว่า ท่านได้รับประทานยาลดความดันโลหิตของท่านหรือยัง ถ้าลืมรับประทาน ให้รับประทานในทันทีที่นึกขึ้นได้ ไม่ต้องรอตามรอบมื้ออาหาร
แต่หากท่านพบว่า มีอาการฉุกเฉินจากโรคความดันสูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือความดันสูงกว่า 180/110 มม.ปรอท ให้ท่านรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมโดยด่วน
ปวดหัว จากความดันสูง ควรกินยาอะไร
อาการปวดศีรษะจากความดันสูงสามารถเกิดขึ้นได้ในคนไข้บางราย โดยเฉพาะในผู้ที่ควบคุมความดันได้ไม่ค่อยดี ท่านสามารถรับประทานยาแก้ปวดในกลุ่มตัวยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะได้
สำหรับยาบรรเทาปวดลดอักเสบในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) สามารถทานได้หากท่านไม่มีภาวะไตเสื่อม แนะนำควรทานหลังอาหารทันที และหากไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม ไม่ทานยากลุ่มนี้ต่อเนื่องนานเกินไป
ที่สำคัญ ท่านควรสำรวจตนเองว่าท่านรับประทานยาลดความดันประจำวันหรือยัง หากท่านลืมรับประทานยา ให้ทานทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอให้ถึงมื้ออาหารถัดไป
วิธีรักษาความดันสูง ควรทำยังไง
เมื่อท่านตรวจพบว่า เริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 135/85 มม.ปรอท ขึ้นไป ท่านสามารถเริ่มดูแลตนเองได้ทันที โดยวิธีการรักษาความดันโลหิตสูงเบื้องต้น โดยไม่พึ่งยา สามารถทำได้ดังนี้
- ท่านต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ตามหลักสูตรอาหารลดความดัน DASH Diet
- หากท่านมีภาวะน้ำหนักเกิน ท่านต้องเริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง ควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ท่านควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำออกกำลังกายความหนักปานกลาง อย่างน้อยวันละ 30-40 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์
- ข้อควรระวัง ไม่ควรออกกำลังกาย หากพบว่า ขณะนั้นท่านมีความดันโลหิตขณะพักมากกว่า 180/110 มม.ปรอท ขึ้นไป และแนะนำให้ท่านรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
- ท่านควรงดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามจัดการกับความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
ในบางรายที่มีปัญหาความดันสูงมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันสูงแล้ว ท่านควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการควบคุมความดันโดยละเอียด และอาจต้องเริ่มยาลดความดันควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมเลย เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต
นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ ถ้าคุณเคยมีความดันสูงเฉียบพลัน
เนื่องจาก ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ส่วนมากไม่มีอาการ ทำให้หลายๆท่านไม่รู้ตัวว่า ตนเองควบคุมความดันได้ดีหรือไม่ และอาจเกิดภาวะความดันสูงเฉียบพลันขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว สิ่งที่หมอแนะนำให้คนไข้ที่เคยเจอปัญหาความดันสูงเฉียบพลันทำทุกคน คือ การวัดความดันด้วยตนเองที่บ้าน และจดบันทึกค่าความดันของท่านไปให้แพทย์ดู เพื่อให้แพทย์สามารถปรับยาได้เหมาะสมกับท่านมากที่สุด
ท่านสามารถวัดความดันด้วยตนเองได้ โดยแนะนำใช้เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดพกพา สำหรับวัดบริเวณต้นแขน ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันกำหนดมาตรฐาน ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องที่วัดบริเวณข้อมือ หรือปลายนิ้ว โดยให้ท่านปฏิบัติตามนี้
- วัดความดันในท่านั่ง และเริ่มวัดหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 2 นาที
- วัดความดันที่บ้านวันละ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า และช่วงเย็น
- แต่ละช่วงเวลา ให้ท่านวัดความดัน ทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 นาที คือ ช่วงเช้า 2 ครั้ง ช่วงเย็น 2 ครั้ง (รวม 4 ครั้งต่อวัน)
- ช่วงเช้า ให้วัดความดันหลังจากปัสสาวะ ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน ควรวัดก่อนทานอาหารเช้า และก่อนทานยาลดความดัน
- ช่วงเย็น ให้ท่านทำการตรวจวัดก่อนเข้านอน
- การเตรียมตัวก่อนการวัดความดัน
- งดดื่มชา กาแฟ และงดสูบบุหรี่ ก่อนวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที
- ถ้าปวดปัสสาวะ ให้ไปเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะออกให้เรียบร้อยก่อน
- ถ้าเดินมาเหนื่อยๆ ควรนั่งพักก่อน
- การปฏิบัติตัวขณะวัดความดัน
- นั่งสบายๆ หลังพิงพนักเก้าอี้ ไม่เกร็งหลัง
- ปล่อยเท้า 2 ข้างวางราบกับพื้น ไม่นั่งไขว่ห้าง
- งดพูดคุยระหว่างวัด
- สังเกตุให้ตำแหน่งของสายรัดวัดความดัน อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ
- ไม่เกร็งแขน หรือมือ ขณะทำการวัดความดัน
- วิธีบันทึก จดวันที่ เวลาที่วัด และช่วงเวลาที่วัด โดยให้จดเลข 3 ค่า คือ
- เลขตัวบน (ค่าความดันโลหิตซีสโตลิก หรือค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว) บนเครื่องอาจมีคำว่า SYS กำกับ
- เลขตัวล่าง (ค่าความดันไดแอสโตลิก หรือค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว) บนเครื่องอาจมีคำว่า DIA กำกับ
- เลขชีพจร บนเครื่องอาจมีคำว่า PULSE หรือเครื่องหมายรูปหัวใจกำกับ
- แนะนำให้ท่านวัดความดัน และจดค่าต่างๆมาให้แพทย์ของท่าน ติดต่อกันอย่างน้อย 3-7 วัน ก่อนมาพบแพทย์ในวันนัด เพื่อให้แพทย์สามารถปรับยาได้เหมาะสมกับท่านมากขึ้น
- ห้าม วัดความดันที่บ้านแล้วปรับยาด้วยตนเองเด็ดขาด
สรุป
แม้ความดันสูง จะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ แต่การปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลตนเอง ท่านอาจเจอกับภาวะความดันสูงเฉียบพลัน ที่ทำอันตรายต่อร่างกายของท่าน ถึงขั้นพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือแม้แต่เสียชีวิตได้
ดังนั้น นอกจากรับประทานยาสม่ำเสมอ และปรับพฤติกรรมอย่างเคร่งครัดแล้ว ท่านควรมีการวัดความดันด้วยตนเองที่บ้าน ด้วยวิธีที่ถูกต้อง และจดค่าความดันไปให้แพทย์ของท่านปรับยาให้เหมาะสมกับท่านทุกครั้งเช่นกัน