แม้ว่าความดันจะสูง แต่หลายท่านยังนึกชะล่าใจ เพราะเห็นว่าไม่ได้มีอาการอะไร แต่จริงๆแล้ว ทุกวินาทีที่ความดันของท่านสูง แปลว่า อวัยวะภายในของท่านจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ รอวันที่ความเสียหายมากพอที่จะแสดงอาการออกมา ซึ่งเมื่อนั้นจะสายเกินแก้
สารบัญ
- ความดัน 170 ความดันสูงไหม? ความดันเท่าไหร่เรียกว่าสูง
- ความดัน ขึ้น 200 อันตรายมาก! ควร ทำ อย่างไร!
- เช็คอาการความดันสูงเฉียบพลัน
- สิ่งเหล่านี้ คนเป็นความดันต้องตรวจ!
- รวม 9 วิธีแก้ ความดันสูงด้วยตนเอง
- สรุป
ความดัน 170 ความดันสูงไหม? ความดันเท่าไหร่เรียกว่าสูง
โรคความดันสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ โดยพบได้จากทั้งความดันตัวบน และความดันตัวล่าง
- ความดันปกติ ควรมีค่าไม่เกิน 120/80 มม.ปรอท หรือความดันตัวบนไม่เกิน 120 และตัวล่างไม่เกิน 80
- ความดันสูงกว่าปกติ มีค่าตั้งแต่ 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 130 และตัวล่างมากกว่า 85 กลุ่มนี้ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ควรเฝ้าระวัง และเริ่มปรับพฤติกรรม
- โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ระยะเริ่มแรก มีค่าตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 140 และตัวล่างมากกว่า 90
- โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 ระยะปานกลาง มีค่าตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 160 และตัวล่างมากกว่า 100
- โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 3 ระยะรุนแรง มีค่าตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวบนมากกว่า 180 และตัวล่างมากกว่า 110
สำหรับผู้ที่มีค่าความดันตัวบน (ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว) 170 มม.ปรอท จึงจัดได้ว่า เป็นโรคความดันสูงในระดับที่ 2 หรือระยะปานกลาง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันสูงเรื้อรังได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเรื่องอาหารการกิน ปรับพฤติกรรม รวมไปถึงต้องเริ่มรับประทานยาลดความดันตามคำสั่งแพทย์
ความดัน ขึ้น 200 อันตรายมาก! ควร ทำ อย่างไร!
หากท่านตรวจพบว่า ท่านมีค่าความดันตัวบนสูงถึง 200 มม.ปรอทนั้น ท่านไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนั่นแปลว่า ท่านอยู่ในกลุ่มของโรคความดันโลหิตสูง ระดับที่ 3 หรือระยะรุนแรง จัดว่าอยู่ในกลุ่มภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินสำหรับโรคความดันสูง เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต และหลอดเลือดสมอง จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เป็นการเร่งด่วน ภายในวันเดียวกัน
เช็คอาการความดันสูงเฉียบพลัน
เนื่องจากผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มักไม่แสดงอาการใดๆ กลุ่มที่มีอาการ มักจะเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ รวมไปถึงผู้ที่มีความดันสูงเฉียบพลัน อาจเจอปัญหาอวัยวะต่างๆเสียหายจากความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมาก ต้องรีบพบแพทย์โดยทันที โดยสามารถถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- เจ็บกลางอกรุนแรง ร้าวไปกรามซ้าย หรือไหล่ซ้าย เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- ปวดศีรษะรุนแรง ปวดจนตื่นนอน ร่วมกับมีอาเจียนรุนแรง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ชาครึ่งซีก หรือแขนขาอ่อนแรง
- ตามองไม่เห็นแบบฉับพลัน
- ปัสสาวะไม่ออก ขาบวม เท้าบวมกดบุ๋ม
สิ่งเหล่านี้ คนเป็นความดันต้องตรวจ!
ในผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรค บางท่านอาจเป็นมานานหลายปี ซึ่งความดันสูงเรื้อรังที่ท่านเป็น อาจก่อปัญหากับอวัยวะต่างๆของท่านโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นสาเหตุให้ท่านจำเป็นต้องตรวจดูสภาพการทำงานของอวัยวะเหล่านั้น เช่น
- ตรวจการทำงานของไต และระดับเกลือแร่
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจค่าเกาต์ หรือกรดยูริก
- ตรวจค่าน้ำตาลในเลือด ตรวจระดับไขมันในเลือด
รวม 9 วิธีแก้ ความดันสูงด้วยตนเอง
หากท่านพบว่าเริ่มมีภาวะความดันสูง ท่านสามารถเริ่มต้นการรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยตนเองได้ ตั้งแต่การปรับพฤติกรรม และการรับประทานอาหาร โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ลดการรับประทานโซเดียมในชีวิตประจำวัน ลดการปรุงเค็ม รวมถึงลดอาหารที่มีโซเดียมสูงอื่นๆ
- เน้นการรับประทานถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชไม่ขัดสี เป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ช่วยลดความดันได้ดี เช่น แมกนีเซียม เป็นต้น
- เพิ่มการรับประทานผัก และผลไม้ จากผลไม้เต็มผล อุดมไปด้วยกากใยไฟเบอร์ และแร่ธาตุสำคัญอย่าง แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่ช่วยลดความดันได้ดีมาก
- เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมจากธรรมชาติ เช่น นมไขมันต่ำ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว เต้าหู้ ถั่วและธัญพืชชนิดต่างๆ
- เลือกทานโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ หลีกเลี่ยงการทานเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป
- เลือกรับประทานไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันรำข้าว หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัว และงดไขมันทรานซ์
- ลดการทานน้ำตาล ของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม
- งดสูบบุหรี่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และเข้านอนให้ตรงเวลา
สรุป
ภาวะความดันโลหิตสูง แม้ไม่มีอาการใดๆ ก็สามารถก่อผลเสีย และอันตรายต่ออวัยวะภายในของท่านได้ ดังนั้น หากท่านตรวจพบว่ามีความดันสูง ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ตาม ท่านควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการควบคุมอาหาร ปรับพฤติกรรม หรือบางท่านจำเป็นต้องเริ่มรับประทานยาลดความดันควบคู่ไปด้วย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต