ไขมันเกาะตับ หรือที่หลายๆท่านจะคุ้นเคยกับคำว่า ไขมันพอกตับ คือ ภาวะที่ตับมีการสะสมของไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์มากกว่าปกติ โดยเกิดปัญหา แทรกอยู่ทั่วทั้งเนื้อตับ ไม่เฉพาะพอกอยู่เพียงด้านนอก เหมือนที่หลายๆท่านเข้าใจกัน
สารบัญ
- ไขมันเกาะตับ อันตรายจริงไหม?
- สาเหตุของไขมันเกาะตับ
- ไขมันเกาะตับ อาการเป็นอย่างไร
- อาหารที่ควรเลี่ยง ของคนเป็นไขมันพอกตับ
- ไขมันพอกตับ กินไข่ได้ไหม?
- สรุป
ไขมันเกาะตับ อันตรายจริงไหม?
ภาวะไขมันเกาะตับ เป็นภาวะที่พบได้มากถึง 25% ของคนไทย หรืออาจมองได้ง่ายๆว่า พบได้มากถึง 1 ใน 4 คน โดยส่วนมากอาจไม่เคยรู้ตัวเลย เพราะไขมันเกาะตับเป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดงอะไรเป็นพิเศษ
ความอันตรายของไขมันเกาะตับ คือ เมื่อมีไขมันสะสมมากกว่าปกติ จะเกิดการอักเสบขึ้นในเซลล์ตับ กระบวนการนี้จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และ 2-3% สามารถกลายเป็นมะเร็งตับได้ แม้ว่าท่านจะไม่เคยดื่มเหล้า หรือแอลกอฮอล์เลยก็ตาม
นอกจากนั้นยังพบว่า หากท่านตรวจพบภาวะไขมันพอกตับและไม่รีบแก้ไข จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้มากถึง 2.2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
สำหรับใครที่ต้องการเจาะลึกหมอแนะนำให้อ่านบทความนี้เลยค่ะ ไขมันพอกตับ อันตรายไหม
สาเหตุของไขมันเกาะตับ
ไขมันเกาะตับ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์ (Alcoholic fatty liver disease)
แอลกอฮอล์ จะเป็นพิษต่อเซลล์ตับของเราโดยตรง เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น เกิดการสะสมของไขมันในเซลล์ตับมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโรคตับคั่งไขมัน หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ไขมันเกาะตับ นอกจากนั้น ยังทำให้เสียสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ผนังลำไส้ทำงานผิดปกติ ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารโดยรวมได้
ความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับจากสาเหตุนี้ จะขึ้นกับประเภท ปริมาณ ความถี่ และระยะเวลาที่ท่านดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease หรือ NAFLD) เช่น
นอกจากปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ ยังมีอีกภาวะที่ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะทั่วร่างกาย รวมไปถึงในเซลล์ตับ คือ ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) โดยพบในกลุ่มคนเหล่านี้
-
- กลุ่มที่มีโรคระบบการเผาผลาญบกพร่อง (Metabolic syndrome) โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง
- กลุ่มที่มีการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การทานน้ำตาล และไขมันที่มากเกินไป
ไขมันเกาะตับ อาการเป็นอย่างไร
ไขมันเกาะตับ หรือไขมันพอกตับ เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการใช้ชีวิต และอาหารการกินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบได้มากถึง 1 ใน 4 ของคนไทย ที่น่ากังวลคือ คนส่วนมากจะเป็นไขมันเกาะตับโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากส่วนมากในระยะแรกไม่มีอาการแสดงใดๆ มักจะเริ่มตรวจเจอจากการตรวจสุขภาพประจำปี ที่อาจพบค่าการทำงานของตับที่ผิดปกติ ควบคู่ไปกับระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูงผิดปกติได้
อาหารที่ควรเลี่ยง ของคนเป็นไขมันพอกตับ
ปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นไขมันพอกตับกันมากขึ้น คือ การทานอาหารที่มีโภชนาการเกิน หรือมีแคลอรี่ที่เยอะเกินไป ทำให้น้ำหนักขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของการเป็นไขมันเกาะตับ ผู้ที่เป็นไขมันเกาะตับ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการสะสมไขมันที่ตับมากขึ้น และแอลกอฮอล์ยังเป็นพิษต่อเซลล์ตับโดยตรง
- ลดการทานของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม โดยเฉพาะที่มีน้ำเชื่อมข้าวโพด หรือ High Fructose Corn Syrup (HFCs) เป็นส่วนประกอบ
- ลดการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารฟาสฟู้ด ของทอด เนื่องจากเป็นอาหารที่มักทำให้ท่านได้รับแคลอรี่เยอะเกินไป
จุดสำคัญที่ผู้มีภาวะไขมันพอกตับต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ ต้องตั้งเป้าในการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง โดยหากท่านมีภาวะน้ำหนักเกิน ท่านควรลดน้ำหนักให้ได้ อย่างน้อย 5-10% ของน้ำหนักตัวตั้งต้น จะทำให้ลดไขมันพอกตับได้อย่างเห็นได้ชัด
ไขมันพอกตับ กินไข่ได้ไหม?
เมื่อเป็นไขมันพอกตับ หลายๆท่านจะกังวลกับการรับประทานไข่ เนื่องจากมีความเชื่อว่า ไข่แดงมีคอเลสเตอรอลสูง แต่ในไข่แดงก็ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นต่อร่างกายอยู่มาก หากผู้ป่วยไขมันพอกตับจะรับประทานไข่ ท่านสามารถทานไข่เต็มฟอง โดยไม่ต้องเอาไข่แดงออก ได้วันละ 1 ฟองตามปกติ
ประเด็นสำคัญที่ผู้ป่วยไขมันพอกตับ หรือไขมันเกาะตับ ควรระมัดระวังให้การรับประทานไข่ คือ กรรมวิธีในการปรุงไข่ ให้ท่านเลือกการใช้วิธีต้ม ตุ๋น ลวก นึ่ง แทนการใช้วิธีทอด อย่างไข่ดาว หรือไข่เจียว เนื่องจากการปรุงด้วยวิธีนี้ มักต้องใช้ปริมาณน้ำมันเยอะ ท่านอาจได้รับพลังงาน หรือแคลอรี่เยอะเกินความต้องการของร่างกายได้
สรุป
ไขมันเกาะตับ หรือไขมันพอกตับ แม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่ก็เป็นภาวะที่อันตราย และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาโดยไม่รู้ตัวได้ หากท่านเริ่มตรวจเจอไขมันเกาะตับ ท่านสามารถเริ่มต้นดูแลตนเองได้ โดยการปรับพฤติกรรม และปรับอาหารการกินของท่าน โดยให้ท่านงดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดการรับประทานของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม มุ่งเป้าไปที่การลดน้ำหนักอย่างเคร่งครัด
เพียงเท่านี้ ท่านก็จะสามารถรักษาภาวะไขมันพอกตับได้โดยที่ท่านไม่ต้องพึ่งยา