กว่า 1 ใน 4 ของคนไทย เป็นโรคไขมันพอกตับโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมอาการการกินที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาทานอาหารแปรรูป อาหารไขมันสูง หรือน้ำตาลกันมากขึ้น ส่วนมากแล้วภาวะไขมันพอกตับ หรือตับคั่งไขมันนี้ มักไม่แสดงอาการใดๆในระยะแรก แต่หากปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไข อาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้เลย แม้ว่าท่านจะไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลยก็ตาม
สารบัญ
- วิธีสังเกต ใครเสี่ยงไขมันพอกตับบ้าง?
- ไขมันพอกตับ ต้องระวัง สัญญาณเตือนอาการตับอักเสบ
- ท้องอืด ใช่อาการไขมันเกาะตับไหม?
- เป็นไขมันพอกตับไหม? ต้องตรวจยังไง
- 3 สิ่งเลวร้ายที่สุด ที่คุณจะทำให้ตับของคุณ
- สรุป
วิธีสังเกต ใครเสี่ยงไขมันพอกตับบ้าง?
ก่อนหน้านี้เราจะมีความเชื่อว่า คนที่จะเป็นไขมันพอกตับได้ จะต้องเป็นคนที่ดื่มเหล้า หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาที่พบว่า ต่อให้ท่านไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ท่านก็เสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับได้ หากท่านอยู่ในกลุ่มเหล่านี้
- ท่านเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ท่านจะเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อเซลล์ตับ เกิดการอักเสบได้ง่าย
- ท่านเป็นผู้ที่มีโรคอ้วน น้ำหนักตัวมาก น้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง
- ท่านเป็นผู้ที่มีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน
- ท่านเป็นผู้ที่รับประทานของหวานเยอะๆ โดยเฉพาะของหวาน หรือเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมข้าวโพด หรือ High Fructose Corn Syrup (HFCs)
ไขมันพอกตับ ต้องระวัง สัญญาณเตือนอาการตับอักเสบ
ส่วนมากแล้วไขมันพอกตับจะเป็นโรคที่ไม่มีอาการ แต่หากปล่อยให้มีภาวะตับคั่งไขมันมากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่รีบแก้ไข เซลล์ไขมันจะหลั่งสารก่อการอักเสบออกมา เกิดการอักเสบขึ้นภายในตับของท่าน และจะแสดงอาการออกมาเมื่อท่านมีภาวะตับอักเสบ หรือตับแข็งแล้ว โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน
- มึนงง สมาธิลดลง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต จากภาวะตับแข็ง
ท้องอืด ใช่อาการไขมันเกาะตับไหม?
ในผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ หากทำการตรวจร่างกาย หรือทำอัลตราซาวน์ช่องท้อง จะพบว่า ตับมีขนาดโตขึ้น จากไขมันที่เข้าไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับมากกว่าปกติ จึงทำให้บางท่านอาจมีอาการไม่สบายท้อง หรือท้องอืดท้องเฟ้อเล็กน้อยๆได้
แต่อย่างไรก็ตาม ให้ระวัง หากท่านมีอาการอืดแน่นท้องมาก ท้องโตขึ้นผิดปกติ ลักษณะเต่งคล้ายลูกโป่ง อาจเป็นสัญญาณของการมีน้ำในช่องท้อง (Ascites) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของภาวะตับแข็ง ให้ท่านรีบปรึกษาแพทย์ในทันที
เป็นไขมันพอกตับไหม? ต้องตรวจยังไง
เนื่องจากไขมันพอกตับ เป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงใดๆในระยะแรก ทำให้ส่วนมาก หลายๆท่านจะตรวจพบภาวะไขมันพอกตับโดยบังเอิญ จากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยท่านสามารถตรวจหาภาวะไขมันพอกตับได้ ด้วยวิธีการดังนี้
- ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ (Liver function test)
ดูจากค่า SGOT (หรืออาจแสดงในค่า AST) และ SGPT (หรืออาจแสดงในค่า ALT) ที่พบว่าสูงกว่าปกติ อาจพบร่วมกับมีระดับน้ำตาล และไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงผิดปกติ
โดยวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะมักเป็นค่าที่อยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป หากท่านพบว่าค่าดังกล่าวเริ่มสูงกว่าปกติ ควรนำผลเลือดไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป
- ตรวจอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้อง
เพื่อดูลักษณะเฉพาะโรคของตับ โดยอาจพบว่า ตับมีขนาดโตขึ้น และขาวขึ้นกว่าอวัยวะข้างเคียง จากไขมันที่เข้าไปสะสมมากกว่าปกติ
- การตรวจด้วย Fibroscan
เป็นการตรวจความยืดหยุ่น พร้อมกับประเมินไขมันที่สะสมภายในตับ เพื่อสำรวจความเสียหายของเนื้อเยื่อตับ จากไขมันที่ไปพอกและสะสมมากกว่าปกติ
3 สิ่งเลวร้ายที่สุด ที่คุณจะทำให้ตับของคุณ
โรคไขมันพอกตับ เป็นโรคที่ปัจจุบัน คนไทยเป็นกันมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป
สำรวจตัวเองด่วน! พฤติกรรม 3 อย่างนี้ของท่าน จะทำร้ายตับของท่าน โดยที่ท่านไม่รู้ตัว!
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เนื่องจากร่างกายจะทำการกำจัดแอลกอฮอล์ที่ตับ แต่หากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับนั้นมาก และบ่อยเกินไป แอลกอฮอล์ส่วนเกิดที่ตับกำจัดได้ไม่หมด จะเป็นพิษต่อเซลล์ตับโดยตรง และยังทำให้เกิดการสะสมของไขมันในเซลล์ตับมากขึ้นด้วย
- การดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือของหวาน โดยเฉพาะที่มีส่วนผสมของ น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือ High Fructose Corn Syrup (HFCs) น้ำตาลฟรุกโตสเข้มข้นในปริมาณมาก จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว และเข้าไปทำร้ายตับของท่านโดยตรง
- การปล่อยให้น้ำหนักตัวเกิน อ้วนลงพุง เพราะเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งของภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) จะเกิดการสะสมของไขมันในช่องท้อง (Visceral fat) และเกิดการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย รวมทั้งที่ตับด้วยเช่นกัน
นี่คือ 3 พฤติกรรมหลัก ที่หลายๆท่านอาจเผลอทำโดยไม่รู้ตัว เพราะเห็นว่าไม่ได้เกิดผลเสียที่เห็นได้อย่างชัดเจน ณ วันนี้ แต่หากท่านไม่รีบแก้ไข อาจเกิดผลเสียต่ออวัยวะภายใน รวมถึงตับของท่านโดยที่ท่านไม่รู้ตัว
สรุป
ไขมันพอกตับ หรือภาวะตับคั่งไขมัน ส่วนมากแล้วเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆในระยะแรก หรือบางท่านอาจมีอาการที่พบได้ทั่วๆไป เช่น ท้องอืดท้องเฟ้อ อ่อนเพลีย มึนงง จึงทำให้หลายๆท่านมักตรวจพบภาวะนี้โดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น ท่านจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ และเฝ้าระวัง แก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ท่านมี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกว้อนจากโรคไขมันพอกตับในอนาคต