ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยเบาหวานมากเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และมีแนวโน้มพบมากขึ้น และพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน หนึ่งในการรักษาตามมาตรฐานที่ท่านจะต้องได้รับ คือ ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด และในบทความนี้ หมอจะพาไปทำความรู้จักกับยาลดระดับน้ำตาลที่คุณหมอนิยมจ่ายกันค่ะ
สารบัญ
- ค่าน้ำตาลในเลือด ปกติไม่ควรเกินเท่าไหร่
- ค่าน้ำตาลสะสม HbA1c คืออะไร
- ยาลดน้ำตาลมีอะไรบ้าง
- Metformin ยาเบาหวาน ที่ช่วยลดน้ำตาลหลังอาหารได้ดีมาก
- ข้อควรระวังของยาเบาหวาน Glipizide
- อาการน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน สังเกตอย่างไร
- สรุป
ค่าน้ำตาลในเลือด ปกติไม่ควรเกินเท่าไหร่
ค่าน้ำตาลในเลือด เป็นค่าที่เรานิยมตรวจกันในการตรวจสุขภาพประจำปี จะเป็นค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร หรือ Fasting blood sugar (FBS) ที่ท่านจำเป็นต้องอดอาหารนาน 8 ชั่วโมงก่อน จึงจะมาเจาะเลือดตรวจในตอนเช้า
โดยท่านสามารถอ่านค่าได้คร่าวๆดังนี้
- Fasting blood sugar (FBS) อยู่ระหว่าง 70-100 mg/dL แปลว่า คุณมีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
- Fasting blood sugar (FBS) ตั้งแต่ 100-125 mg/dL แปลว่า คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน หรือมีภาวะเบาหวานแฝง
- Fasting blood sugar (FBS) ตั้งแต่ 126 mg/dL ขึ้นไป แปลว่า คุณเป็นเบาหวาน
ค่าน้ำตาลสะสม HbA1c คืออะไร
ค่า HbA1c (Hemoglobin A1c) หรือที่เรามักเรียกกันว่า ค่าน้ำตาลสะสม เป็นค่าน้ำตาลที่ทำปฏิกิริยาเกาะกับเม็ดเลือดแดง ทำให้สามารถดูค่าเฉลี่ยในการควบคุมระดับน้ำตาลย้อนหลังได้มากถึง 3 เดือน เท่ากับอายุของเม็ดเลือดแดงนั่นเอง
ค่านี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากทำให้แพทย์สามารถประเมินความสม่ำเสมอ และความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลที่แท้จริงของคนไข้ได้ ส่งผลต่อผลการรักษา และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้โดยตรง
ท่านสามารถอ่านผลตรวจค่าน้ำตาลสะสมคร่าวๆได้ดังนี้
- ค่า HbA1c มากกว่า 6.5 แปลว่า ระดับน้ำตาลสะสมของท่านสูงมาก เป็นเบาหวาน
- ค่า HbA1c ตั้งแต่ 5.7-6.4 แปลว่า ระดับน้ำตาลสะสมของท่านค่อนข้างสูง ท่านเสี่ยงเป็นเบาหวานในอนาคต
- ค่า HbA1c น้อยกว่า 5.7 แปลว่า ระดับน้ำตาลสะสมของท่านอยู่ในเกณฑ์ปกติ
แม้ท่านจะมีระดับน้ำตาลสะสมน้อยกว่า 5.7 แต่ก็มีการศึกษาพบว่า หากท่านมีค่าน้ำตาลสะสมมากกว่า 5.5 ขึ้นไป ท่านมีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานในอนาคตได้ถึง 25% หากท่านยังไม่ปรับพฤติกรรมและควบคุมอาหาร
ยาลดน้ำตาลมีอะไรบ้าง
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ซับซ้อน และเกิดได้จากหลายกลไก แพทย์ยุคปัจจุบัน จึงมียาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานอยู่หลายตัว หลายกลุ่ม ที่ออกฤทธิ์ในกลไกที่แตกต่างกัน เพื่อให้ท่านสามารถควบคุมระดับน้ำตาลของท่านให้ดีที่สุด
กลุ่มยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน มีดังนี้
- ยาเบาหวานชนิดกิน
- Metformin: เพิ่มความไวของฮอร์โมนอินซูลิน และลดการผลิตน้ำตาลของตับ
- Glipizide: กระตุ้นตับอ่อน ให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้น
- Alpha-glucosidase Inhibitors: ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้
- DPP-4 Inhibitors: ช่วยให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลิน และลดความหลั่งกลูคากอน
- SGLT2 Inhibitors: ลดการดูดซึมน้ำตาลกลับที่ไต
- ยาเบาหวานชนิดฉีด
- Insulin: ใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางราย
- GLP-1 Agonists: ช่วยลดความอยากอาหาร และกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน
Metformin ยาเบาหวาน ที่ช่วยลดน้ำตาลหลังอาหารได้ดีมาก
ยาเบาหวาน Metformin เป็นยาเบาหวานตัวเลือกแรกในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นตัวยาที่ค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 สะกัดมาจากดอกไม้ที่มีชื่อว่า French lilac
จุดเด่นของยาตัวนี้คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการเพิ่มความไวของฮอร์โมนอินซูลิน ไม่ทำให้ตับอ่อนทำงานหนักขึ้น และลดปริมาณการผลิตน้ำตาลสู่กระแสเลือดของตับ ทำให้ Metformin เป็นตัวยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหารได้ดีมาก
ข้อดีของยา Metformin
- เป็นยากินหลังอาหาร ไม่ต้องต้องฉีด
- ช่วยเพิ่มการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลิน ไม่ค่อยพบปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหารได้ดี
ข้อควรระวังของยา Metformin
- อาจทำให้มีอาการท้องเสีอ ท้องอืด ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกที่รับประทาน อาการดังกล่าวจะค่อยๆดีขึ้นได้เอง
- ทำให้ระดับวิตามิน B12 ต่ำลง ควรได้รับการเสริมวิตามินชนิดนี้ร่วมด้วย
- ไม่ควรใช้ในผู้ป้วยโรคไตวาย
ข้อควรระวังของยาเบาหวาน Glipizide
เป็นยาเบาหวานในกลุ่มของ Sulfonylurea ออกฤทธิ์ลดน้ำตาล โดยกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดออกมามากขึ้น มักเป็นยาตัวที่ 2 ที่แพทย์จะเพิ่มให้คนไข้ หาก Metformin ไม่สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยได้มากพอ
ยาเบาหวานชนิดนี้เป็นยารับประทานก่อนอาหาร 30 นาที ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ อาการน้ำตาลต่ำ ซึ่งอาจเกิดได้จาก ขนาดยามากเกินไป, รับประทานอาหารไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือการอดอาหาร
อาการน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน สังเกตอย่างไร
ภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นภาวะที่เจอได้บ่อย และเป็นภาวะที่อันตรายมาก ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนรวมถึงญาติใกล้ชิด จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง และสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้
อาการน้ำตาลต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- เหงื่อแตก ตัวเย็น
- มือสั่น ใจสั่น
- หน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ
หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี มีอาการไม่มาก สามารถปฐมพยาบาลด้วยการรับประทานลูกอม 2 เม็ด หรือน้ำหวาน 1 แก้ว อาการจะดีขึ้นภายใน 10-15 นาที แต่หากผู้ป่วยอาการรุนแรง ถึงขั้นหมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที โดยไม่ต้องให้ดื่มน้ำหวาน หรือป้อนลูกอมใดๆ
สรุป
ยาเบาหวานมีอยู่หลายชนิด และออกฤทธิ์ผ่านหลายกลไก ผู้ป่วยบางท่านอาจได้ยารับประทาน 1-2 ชนิด ไม่เท่ากัน หรือบางท่านอาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีด ขอให้ท่านใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกัับการปรับพฤติกรรม ควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และการออกกำลังกาย จะทำให้ท่านสาามารถควบคุมระดับน้ำตาลของท่าน และลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้เป็นอย่างดี