หมอเตือน! เบาหวานขึ้นตา อันตรายกว่าที่คิด!

เบาหวาน ขึ้น ตา

          เบาหวาน แม้จะดูเป็นโรคที่พบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มผู้สูงอายุ จนหลายท่านมองเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เบาหวานเป็นโรคที่อันตรายกว่าที่คิด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแบบฉับพลัน เช่น ภาวะช็อกน้ำตาล หรือภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน เบาหวานลงไต หรือเบาหวานขึ้นตาได้

สรุป

โรคเบาหวานมีอาการอย่างไรบ้าง

              ในผู้ที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มต้น ที่ค่าน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมาก จะยังไม่แสดงอาการอะไรที่เด่นชัด หลายท่านตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี แต่หลายท่านอาจเป็นโรคเบาหวานมานานโดยไม่รู้ตัว หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน มีการลุกมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้ง แม้ว่าก่อนนอนท่านจะไม่ได้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ
  • คอแห้ง กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ เป็นผลพวงมาจากการปัสสาวะที่บ่อยขึ้น และขาดน้ำ
  • หิวบ่อย กินจุกว่าปกติ แต่น้ำหนักตัวลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดสมาธิ
  • ชาปลายมือปลายเท้า อาจเป็นแผลโดยไม่รู้ตัว แผลหายช้า
  • ตามัว
  • ป่วยบ่อย ติดเชื้อบ่อย คันช่องคลอด

          อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อโรคเบาหวานของท่านเป็นหนักในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเริ่มก่อผลเสียต่ออวัยวะต่างๆของท่านไปไม่มากก็น้อย ท่านควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อรีบวินิจฉัยและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอจนเกิดอาการ

โรคเบาหวานระยะสุดท้าย มีอาการอย่างไร

          โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเป็นมาเรื้อรัง จะก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในของร่างกายท่านได้ โดยอาจก่อให้เกิดปัญหาดังนี้

  • เบาหวานขึ้นจอตา ตามัว การมองเห็นแย่ลง จนอาจสูญเสียการมองเห็นได้ในอนาคต
  • เบาหวานลงไต โปรตีนรั่วในปัสสาวะ การทำงานของไตแย่ลง ไตวาย อาจต้องฟอกไต
  • แผลเบาหวาน แผลติดเชื้อลุกลาม จนอาจต้องตัดนิ้ว หรือตัดขา
  • โรคหัวใจ หัวใจโต หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต

          ปัญหาเหล่านี้แม้จะน่ากลัว แต่สามารถป้องกันได้ หากท่านได้รับการตรวจวินิจฉัย ได้รับการรักษาโรคเบาหวานอย่างถูกวิธี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของท่านได้

เบาหวานขึ้นตาเกิดจากอะไร

          อาการตามัว การมองเห็นแย่ลงในผู้ป่วยเบาหวาน หลายๆท่านอาจเกิดจาก เบาหวานขึ้นจอตา หรือ Diabetic Retinopathy คือ ภาวะที่จอตาเปลี่ยนแปลงไป จากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดฝอย และระบบประสาทจำนวนมากที่อยุ่บนจอตานั้นเสื่อมลง

          โดยภาวะนี้ในระยะเริ่มต้นอาจไม่แสดงอาการใดๆ โดยอาจยังรู้สึกว่ามีการมองเห็นที่ปกติอยู่ เนื่องจากจอตาและจุดภาพชัดจะเกิดการเสื่อมลงอย่างช้าๆจนไม่ทันสังเกตว่าตามัวลง และยังสามารถใช้ตาข้างที่ดีกว่าในการช่วยมอง จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเบาหวาน ควรได้รับการขยายม่านตา และตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องรอให้มีอาการตามัว เพราะเมื่อตรวจพบปัญหาเหล่านี้ จะสามารถให้การรักษาเพื่อควบคุมความเสื่อม และป้องปันการสูญเสียการมองเห็นในอนาคตได้

เบาหวานขึ้นตา หายได้ไหม

          การรักษาเบาหวานขึ้นจอตา จักษุแพทย์จะพิจารณาตามระยะ และความรุนแรงของโรค โดยแนวทางการรักษาประกอบไปด้วย

  • การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

          โดยต้องควบคุมทั้งค่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (Fasting blood sugar, FBS) และค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษา ร่วมกับควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆทั้ง ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เพื่อชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา

  • การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา

          ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการงอกของเส้นเลือดใหม่ หรือมีเลือดออกในวุ้นตา

  • การฉีดยาเข้าวุ้นตา

          เพื่อลดการบวมของจุดรับภาพชัด และช่วยให้เส้นเลือดที่งอกใหม่ฝ่อไป ทำให้การมองเห็นดีขึ้นหากบริเวณจุดรับภาพชัดยังไม่ขาดเลือด

  • การผ่าตัด

          จักษุแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเลือดออกในตามาก และมีพังพืดดึงรั้งมากจนทำให้จอตาบวม จอตาหลุดลอก หรือฉีกขาด

          เทคโนโลยีในการรักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในปัจจุบันมีมากขึ้น แต่จุดที่สำคัญที่สุดในการรักษาและป้องกัน ยังคงเป็นการควบคุมที่ตัวโรค ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ เพื่อลดความเสี่ยง และชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานตั้งแต่ก่อนปัญหาจะเป็นการดีที่สุด

วิธีการรักษาโรคเบาหวานเบื้องต้นด้วยตนเอง

              ในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน เน้นหลักการจัดการกับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) เป็นหลัก ผ่านการปรับพฤติกรรม และปรับอาหารการกิน โดยมีหลักการเบื้องต้นที่ท่านสามารถเริ่มทำด้วยตนเองได้ดังนี้

  • เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรต จากแหล่งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีกากใยสูง

              เช่น เปลี่ยนจากข้าวขาว เป็นข้าวกล้อง หรือข้าวธัญพืช เปลี่ยนจากขนมปังขาว เป็นขนมปังโฮลวีท หรือซาวโดว์ หรือเลือกทานแป้งจากผักหัว แทนการทานแป้งขัดสี เช่น เลือกทานมันต้ม เผือกต้ม หรือข้าวโพดที่มีกากใย กากใยเหล่านี้จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ไม่ให้น้ำตาลในเลือดของท่านพุ่งขึ้นสูงเร็วเกินไป

  • เลี่ยงการบริโภคน้ำตาลเชิงเดี่ยว

              เช่น น้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือขนมหวานต่างๆ เนื่องจากน้ำตาลเหล่านี้จะถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว และกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินอย่างมหาศาล

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

              น้ำหนักที่มากเกินไป จะทำให้มีไขมันสะสมในช่องท้อง รวมไปถึงภายในเซลล์ต่างๆเยอะเกินไป จนเซลล์นั้นๆไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ตามปกติ เกิดเป็นภาวะดื้ออินซูลินตามมา

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • หากท่านจำเป็นต้องใช้ยาเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นยากิน หรือยาฉีด ขอให้ท่านใช้ยาสม่ำเสมอตามคำสั่งของแพทย์ และไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

สรุป

              เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี ที่ช่วยให้การรักษาภาวะนี้ทำได้ดีขึ้น แต่หากท่านสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของท่านให้ใกล้เคียงปกติ และมีการตรวจตาตามนัดสม่ำเสมอ ก็ช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา และจะลดความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็นในอนาคตได้เป็นอย่างดี