3 วิธีลดน้ำตาลในเลือด เพื่อรักษาเบาหวานให้หายขาด

3 วิธี รักษา เบาหวาน ให้หายขาด

          เมื่อตัวท่านเอง หรือคนที่ท่านรักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน สิ่งหนึ่งที่กำลังรอท้าทายท่านอยู่ คือ ท่านจะควบคุมน้ำตาลในเลือดของท่านได้อย่างไร เพราะโรคเบาหวานไม่เพียงแต่เป็นโรคประจำตัวของท่านโรคหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถกลายไปเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่นได้ เช่น ตาบอด ไตวาย อัมพาต หรือหัวใจวายจนเสียชีวิตได้

          สำหรับในบทความนี้ หมอจะเล่าให้ทุกท่านฟัง ถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคเบาหวาน และหลักการรักษาเบื้องต้น ที่ทำให้ท่านสามารถดูแลตนเองและคนที่ท่านรักได้เป็นอย่างดี

สารบัญ

สาเหตุ ของโรคเบาหวาน

              เบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งตามชนิดของโรคเบาหวาน ดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus)

เกิดจากเซลล์ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลย มักพบได้ตั้งแต่ยังเด็ก ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเพื่อทดแทนฮอร์โมนอินซูลินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ไปตลอด

  • เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus)

              เป็นเบาหวานชนิดที่พบได้มากถึง 90% มักพบในวัยผู้ใหญ่ เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน คือ แม้ว่าการสร้างอินซูลินจากตับอ่อนสามารถสร้างได้ตามปกติ แต่การตอบสนองต่ออินซูลิน ของเซลล์ต่างๆในร่างกายลดลง ทำให้เซลล์ต่างๆของร่างกาย ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้สร้างพลังงานได้ตามปกติ เกิดเป็นภาวะน้ำตาลคั่งค้างอยู่ในเลือด ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และกลายเป็นโรคเบาหวานตามมา

              ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดนี้ สามารถเริ่มการรักษาด้วยยากินลดเบาหวาน และมีเพียงบางรายเท่านั้นที่ต้องใช้เป็นยาฉีดอินซูลิน

  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)

เป็นโรคเบาหวานที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ แต่มักถูกวินิจฉัยได้ในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ เกิดจากปัญหาที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้

  • โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (Diabetes other specific types)

              เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุทางกายอื่นๆ เช่น เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ตามปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง หรือโรคทางต่อมไร้ท่อ หรือเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

3 หลักการรักษา โรคเบาหวาน

               โรคเบาหวานเป็นโรคที่ต้องอาศัยทั้งยาลดน้ำตาลในเลือดจากแพทย์ และความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมจากตัวผู้ป่วยเอง โดยมีหลักการเบื้องต้นดังนี้

  • ปรับพฤติกรรมการกิน

              ผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลิกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน น้ำอัดลม ที่น้ำตาลจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

ผู้ป่วยเบาหวานควรเพิ่มการออกกำลังกายที่เพิ่มกายเผาผลาญ เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิค โดยแนะนำให้ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน 5 วัน/สัปดาห์ หรือ 150 นาที/สัปดาห์ และควรสลับกับการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ เวทเทรนนิ่ง 2 ครั้ง/สัปดาห์

  • ควบคุมน้ำหนักตัวของท่านให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

              น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะดื้ออินซูลิน และการอักเสบของรน่างกาย หากท่านมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการลดภาวะดื้ออินซูลินที่เป็นต้นเหตุของโรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ

              นอกจากสิ่งที่ท่านสามารถดูแลตนเองได้แล้ว ท่านยังควรใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งยาลดน้ำตาลชนิดกิน และยาลดน้ำตาลชนิดฉีด เพื่อช่วยให้ท่านสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสมให้เร็วที่สุด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในอนาคต

ผู้ป่วยเบาหวาน ควรกินอาหารแบบไหน

               ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลสมดุลของโภชนาการในทุกประเภทของอาหาร ไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องของคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลเพียงอย่างเดียว โดยท่านสามารถใช้การปรับอาหารเบื้องต้นได้ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต และแป้ง

              ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ขัดสี หรือไม่แปรรูป เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เลือกข้าวกล้อง แทนข้าวขาว เลือกขนมปังโฮลวีท หรือขนมปังซาวโดว์ แทนขนมปังขาวทั่วไป

              หลีกเลี่ยงการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน น้ำอัดลม เนื่องจากน้ำตาลเชิงเดี่ยวเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว และกระตุ้นฮอร์โมนอินซูลินมากเกินความจำเป็นได้

  • โปรตีน และเนื้อสัตว์

            ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานโปรตีนในเพียงพอ โดยควรเน้นโปรตีนจากพืชเป็นหลัก หากท่านจะเลือกทานโปรตีนจากสัตว์ ขอให้เลือกจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เช่น ปลา หรือเนื้อไก่ไม่ติดหนัง

  • ไขมัน

              ท่านควรเลือกรับประทานไขมันดี ที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และโอเมก้า 9 เช่น อะโวดาโด้ น้ำมันมะกอก และน้ำมันรำข้าว

ลดการรับประทานไขมันอิ่มตัว ซึ่งมักพบได้จากไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนย ชีส และควรงดการรับประทานไขมันทรานซ์ ซึ่งเป็นไขมันแปรรูป มักพบได้ใน ของทอดน้ำมันท่วม เนยขาว ครีมเทียม เบเกอรี่

  • ผัก และผลไม้

       ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกทานผักผลไม้ให้หลายหลาย เพื่อให้ท่านได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งใยอาหารเหล่านี้จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นในผักผลไม้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามิน รวมถึงแร่ธาตุที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมหาศาล

เป็นเบาหวาน ไม่กินยาลดเบาหวานได้ไหม

              ในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน และยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ท่านมีความจำเป็นต้องรับประทานยา หรือใช้ยาฉีดลดน้ำตาลตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน เช่น อาการช็อกน้ำตาล หรือภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น เบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไต

              แต่เมื่อท่านสามารถปรับพฤติกรรม ปรับอาหาร และสามารถเริ่มควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตัวของท่านเอง แพทย์จะค่อยๆลดปริมาณยาของท่านลง และในคนไข้บางราย สามารถหยุดยาได้ในที่สุด

คู่มือการรักษาโรค เบาหวาน ด้วยตนเอง

              เมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ท่านควรมีหลักการปฏิบัติตัวที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวเป็นส่วนประกอบ
  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลาย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิค อย่างน้อย 30 นาที/วัน 5 วัน/สัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนักตัวของท่านให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคเบาหวาน
  • ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

สรุป

          โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับภาวะดื้ออินซูลิน ทั้งการปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลัง การลดน้ำหนัก ร่วมกับการใช้ยาลดน้ำตาลตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในอนาคต